สุดชอกช้ำ เมื่อพบว่ารองเท้าที่คู่โปรดของเรานั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ “รองช้ำ” ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่มีอาการปวดฝ่าเท้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลถึงกล้ามเนื้ออักเสบในส่วนอื่น ๆ ข้อต่อสะโพก หมอนรองกระดูกเสื่อม กระดูกสันหลังเสียรูปทรงอีกด้วย
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรครองช้ำ
ทุกคนมีโอกาสเป็นโรครองช้ำ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องยืนนาน ๆ ยืนตลอดระยะเวลาการทำงาน เดินบ่อย ๆ ส่วนอาการเบื้องต้นนั้น คุณจะรู้สึกปวดเกร็ง เจ็บส้นเท้าอย่างรุนแรงเมื่อก้าวเดินในระยะแรก และจะค่อยดีขึ้นเมื่อผ่านไปสักระยะ นั่นเพราะเอ็นเท้ามีการยืดหยุ่นนั่นเอง
การเลือกรองเท้าให้ห่างไกลจากโรครองช้ำ
- ส้นสูงปรี๊ด ใส่บ่อย ก็เสี่ยงนะ
รองเท้าส้นสูงสั้นช่วยเสริมบุคลิกให้กับสาว ๆ ผู้สวมใส่ แต่ในทางกลับกันก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรครองช้ำได้ ดีที่สุด คือเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงเกิน 1.5 นิ้ว หากจำเป็นต้องสวมใส่จริง ๆ ควรมีรองเท้าแตะอีกครู่สำรองไว้เปลี่ยน ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงอย่างต่อเนื่องตลอดวัน อาจจะจุกจิกที่ต้องพกรองเท้าไปเผื่ออีกคู่ แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะรู้สึกดีกว่าการต้องมานั่งปวดเท้า
- รองเท้าแตะ พื้นนุ่ม
รองเท้าแตะที่พื้นแข็ง ๆ และเรียบเสมอกัน ก็ทำให้เกิดโรครองช้ำได้เช่นกัน ดีที่สุดรองเท้าแตะที่เลือกสวมใส่ควรมีพื้นรองเท้ามีการลาดเอียง หรือสโลฟ รองเท้าไม่เล็กแคบบีบรัดเท้าเกินไป บริเวณพื้นรองเท้าตรงส้นเท้าอ่อนนุ่ม สามารถรองรับการกระแทกของส้นเท้าได้ดี ไม่ว่าจะเดินบ่อย หรือยืนนานก็หมดห่วง
- รองเท้าดูดซับแรงกระแทก
วิ่งบ่อย ๆ ก็เป็นโรครองช้ำได้นะคะ หากรองเท้าที่เราสวมใส่นั้นไม่สามารถดูดซับแรงกระแทกจากน้ำหนักของเราได้ดีพอ ยิ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก จะประสบปัญหานี้กว่าคนปกติ ทีนี้คงไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมว่า ทำไมสนีกเกอร์ชื่อดังหลายแบรนด์จึงมีราคาสูงลิ่ว
- เลือกรองเท้าที่มีแผ่นบุรองส้นเท้า
อันที่จริง บรรดาสนีกเกอร์ล้วนมีแผ่นบุรองเท้าแถมมาอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องใส่ใจในการเลือกสักนิด โดยการเลือกซื้อแผ่นบุรองเส้นเท้าที่ได้มาตรฐานแยกต่างหาก เพื่อป้องกันการสะเทือนของส้นเท้าทุกครั้งที่ต้องก้าวเดิน
กันไว้ดีกว่าแก้นะคะ เพราะคงไม่ดีแน่หากเราต้องมาทนปวดเท้า เจ็บจี๊ดทุกย่างก้าว ก่อนจะเลือกซื้อรองเท้าทุกครั้งต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะคะ กระชับ อ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น ใส่สบาย แล้วโรครองช้ำจะเป็นเพียงแค่ลมผ่านหู ไม่มีทางเกิดขึ้นกับเราได้อย่างแน่นอนค่ะ
เครดิตภาพ