fbpx

ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพของเรากำลังมีปัญหาก็ได้นะ ดังนั้นสาว ๆ ควรสังเกตตัวเองเสมอว่าประจำเดือนของเรามาปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ จะได้หาทางรักษาหรือพบแพทย์ต่อไปค่ะ แต่ถ้าเพื่อน ๆ สงสัยว่าประจำเดือนมาไม่ปกตินั้นเกิดจากอะไร ร้ายแรงไหม และประจำเดือนมาไม่ปกติแบบยังไง วันนี้ เราได้รวบรวมข้อมูลมาไว้ที่นี่แล้วค่ะ

ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นอย่างไร?

1.ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia)

ประจำเดือนมามากคือ การมีประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน และมักมีปริมาณเลือดมากเกินไป อาจเกิดได้จากต่อมเอสโตรเจนไม่สมดุล อุ้งเชิงกรานอักเสบ มีก้อนเนื้องอก หรือสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อ

2.ประจำเดือนมาน้อย (Hypomenorrhea)

ประจำเดือนมาน้อยคือ การมีประจำเดือนน้อยกว่าปกติ โดยอาจมีหลายสาเหตุ เช่น การคุมกำเนิด สภาวะถุงน้ำ PCOS โรคไทรอยด์ หรือการมีภาวะเครียด

3.ประจำเดือนขาด (Amenorrhea)

ประจำเดือนขาด หมายถึง การไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเกิน 3 รอบขึ้นไปในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือไม่เคยมีประจำเดือนเลยในวัยรุ่นที่อายุ 16 ปีขึ้นไป

4. ประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea)

ประจำเดือนห่างคือ การมีประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วันในแต่ละรอบ และมีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งต่อปี

5. ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea)

ประจำเดือนมาบ่อยคือ การมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน

6. ประจำเดือนเลื่อน (Delayed Period)

ประจำเดือนเลื่อนคือ การมาเร็วหรือช้ากว่าประจำเดือนก่อนหน้าเกิน 7 วัน โดยประจำเดือนทั่วไปมักมาทุก 21-35 วัน

7. ประจำเดือนหลังวัยทอง (Postmenopausal Bleeding)

ประจำเดือนหลังวัยทองหมายถึง การที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองแล้วกลับมามีประจำเดือนหลังจากประจำเดือนหยุดไปแล้วประมาณหนึ่งปี

8. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia)

ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอคือ การมีระยะห่างของการมีประจำเดือนไม่เท่ากันในแต่ละรอบเดือน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก โรคถุงน้ำรังไข่ ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล หรือสภาวะเครียด

ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

1.ใช้ยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิดหรือยาฝังคุมกำเนิด อาจมีผลต่อระบบประจำเดือนของผู้หญิง ยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ซึ่งส่งผลให้ระบบประจำเดือนของผู้หญิงมีความผิดปกตินั่นเองค่ะ

2.การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ

สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในเพศหญิงมีบทบาทสำคัญในระบบประจำเดือนค่ะ การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศอาจเกิดจากโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ โดยผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนน้อยว่า 9 ครั้งใน 1 ปี หรือรอบประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วัน

3.ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกที่อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และมีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากการเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกนอกโพรงมดลูก ได้แก่บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง

4.การให้นมบุตร

ในช่วงให้นมบุตร ร่างกายของผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงขึ้น เป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการมีประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้ระบบประจำเดือนมาไม่ปกติในบางราย

5.ความผิดปกติภายในรังไข่

อย่างเช่น ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือภาวะประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ (Premature Ovarian Insufficiency) ซึ่งอาจเกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

6.ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง

เป็นภาวะที่อาจทำให้ประจำเดือนมานานหรือขาดไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของปัญหาเสริมเช่นการมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งโพรงมดลูก

7.วัยทอง

ช่วงระยะเวลาเข้าสู่วัยทอง การทำงานของรังไข่อาจมีความผิดปกติได้ค่ะ ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนในปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ

8.เนื้องอก

เนื้องอกบริเวณมดลูกหรือโพรงมดลูกเป็นสาเหตุที่มักเกิดความผิดปกติในระยะประจำเดือน เนื้องอกอาจทำให้ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ

9.ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน

ภาวะนี้มักพบในผู้หญิงที่มีกิจกรรมทางเพศค่อนข้างบ่อยหรือมีคู่นอนหลายคน

10.ความเครียด

การสะสมความเครียดอาจส่งผลต่อระบบประจำเดือน โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งสามารถทำให้ประจำเดือนมาช้า มาน้อยกว่าปกติค่ะ

ถ้าสาว ๆ มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ต้องสังเกตุตัวเองดี ๆ ว่าประจำเดือนของเรามาไม่ปกติแบบไหน และน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร มีความรุนแรงมากหรือไม่ ถ้าเพื่อน ๆ สังเกตตัวเองแล้วรู้สึกว่าอาการที่เป็นอยู่อาจจะมีความรุนแรงหรืออันตราย เพื่อน ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ